ชั่วโมงวรรณคดีของครูภาษาไทยที่อ่อนหัดที่สุดในสยามประเทศ

ชั่วโมงวรรณคดี

ทุกคนผ่านการเรียนวรรณคดี จากคาบเรียนวิชาภาษาไทยกันมาแล้วใช่มั้ยครับ
แล้วคุณครูภาษาไทยแต่ละท่าน ก็จะมีวิธีการสอนที่แตกต่างกันไปใช่มั้ยล่ะ

เช่น ให้ค้นคำศัพท์มาก่อนเรียนบ้างล่ะ
ให้ฝึกอ่านฝึกท่องเป็นทำนองเสนาะบ้างล่ะ หรือให้คำถามไว้ แล้วไปหาคำตอบมาให้ได้
ซึ่งก็ต้องไปอ่าน ไปนั่งถอดคำประพันธ์กันมาให้เข้าใจ
การที่ต้องมานั่งแปลไทยเป็นไทย บางทีก็เจ็บปวดเหมือนกันนะครับ 55555

 

……….

จนถึงตอนนี้ ผมเป็นครูภาษาไทยมา 5 ปีแล้วครับ
ช่วง 2-3 ปีแรก ที่ไปบรรจุอยู่โรงเรียนประถม ที่โรงเรียนบ้านดอย
สอนประจำชั้น ป.5 – ป.6 รับเหมาสอนอยู่ทุกวิชาเลยยังไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่

แต่พอย้ายโรงเรียนแล้วต้องมาสอนภาษาไทย ม.3 และ ม.5 แบบเน้น ๆ แล้วรู้ซึ้งเลยครับ

รู้เลยตัวเองยังเป็นครูภาษาไทยที่อ่อนหัดหนัก
เฉพาะเรื่องวรรณคดี ผมเปลี่ยนวิธีการสอนอยู่แทบทุกปีครับ

ปีแรก (ที่สอนมัธยม) ผมใช้วิธีการให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม แบ่งเนื้อหาวรรณคดี
แล้ววาดภาพตามเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับวรรณคดีในตอนที่นักเรียนอ่าน

ปรากฏว่าในวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร
แต่ละกลุ่มจะวาดออกมาเป็นรูปแบบคล้าย ๆ กัน คือมีสุนทรภู่นั่งเขียนกระดานชนวน
พระอภัยมณียืนเป่าปี่ ข้าง ๆ มีนางเงือกซบตักอยู่ นางผีเสื้อสมุทรยืนเป็นฉากหลัง
เอื้อมมือมาจะจับพระอภัย แต่ที่หนักกว่านั้นคือ

มีบางกลุ่มวาดภาพ สุดสาครขี่ม้านิลมังกร ส่งมาด้วย

แล้วยังไงน่ะเหรอ ?

ก็ตอนที่อยู่ในหนังสือเนี่ย พระอภัยกับนางเงือกยังไม่ได้กันเลยนะเซ่ !!! แล้วพวกแกไปเอาสุดสาครมาจากย่อหน้าไหนกัน ห้ะ !

จบเลยครับไม่เวิร์ค…

ปีที่สอง ผมเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ ใช้สื่อและอุปกรณ์มากขึ้น

เช่น ให้นักเรียนช่วยกันคิดวิธีช่วยพระอภัยมณี โดยใช้สิ่งของที่ครูให้ไป เช่น ค้อน ที่ตักผง ตะหลิว กรรไกร (อะไรที่หาได้แถว ๆ นั้น)

เด็ก ๆ ก็สนุกสนานในการนำเสนอ

ช่วงนี้ครูต้องตั้งคำถามว่าแล้วมันจะหนีได้จริงเหรอ หรือพยายามแย้งว่ามันยังงั้นยังงี้ไปเรื่อย ๆ จนเด็ก ๆ เริ่มหาทางไปไม่ถูก แล้วค่อยนำเข้าเรื่อง โดยบอกนักเรียนว่า “ถ้าอยากรู้ก็ลองหาคำตอบดูสิครับ” (ทำเสียงแบบพิธีกรรายการเด็ก)

นักเรียนบางคนอยู่ในอาการ “กูไม่รู้ก็ได้วะ”

จบเห่เช่นกันครับวิธีนี้

……..

มีคนกล่าวไว้ว่า…
“ไม่มีวิธีสอนใดที่ดีที่สุด มีแต่วิธีใดที่เหมาะที่สุดสำหรับนักเรียนครับ”

ผมจึงต้องกลับมาใช้วิธีที่ผมเคยคิดว่าชีวิตนี้จะไม่สอนเด็กด้วยวิธีนี้เด็ดขาด นั่นคือ “อ่าน แปล และเล่าเรื่องไปพร้อม ๆ กัน” ครับ

……..

เรื่องมันเกิดจากที่ผมมาย้อนถามตัวเองว่า “เราเรียนวรรณดีไปเพื่ออะไร

มีหลายเหตุผลที่ต้องเรียนวรรณคดี แต่เหตุผลที่โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบเลยก็คือ “เราต้องเรียนเพื่ออนุรักษ์ความเป็นไทย”

โอเค..ว่ามันก็เป็นเรื่องจริง มันมีส่วนถูก แต่การอนุรักษ์ มันน่าจะเป็นผลพลอยได้จากการที่เราได้รับสิ่งที่มันเป็นประโยชน์จากวรรณคดีแล้วมากกว่า

วรรณคดีมันต้องให้อะไรเรามากกว่านั้นสิ

เรื่องของสุนทรียภาพก็ส่วนหนึ่งล่ะ แต่ที่วรรณคดีให้ผู้เรียนมาก ๆ เลยก็คือคุณค่าทางสังคม ที่สะท้อนมาจากวรรณคดีครับ

ไหน ๆ ที่ผ่านมา ผมสับขาหลอกให้นักเรียนไปอ่านแล้วไม่ได้ผล ก็ขอใช้วิธีทื่อ ๆ คืออ่านและเล่าไปพร้อม ๆ กันนี่แหละ ฮึ่ย !!!

อย่างที่ผมออกตัวไว้ ว่าผมเป็นครูภาษาไทยที่ค่อนข้างอ่อนหัด วิธีคิดของผมอาจจะไม่ถูกก็ได้นะครับ แหะ ๆ

แต่เวลาที่ผมเล่า เด็ก ๆ ตั้งใจฟังนะครับ ที่สำคัญฮาด้วยครับ บอกไว้ก่อน 555555555555+

……………………..………

หลังจากที่ทดลองสอนไปเกือบครบเทอม
การอ่านและวิเคราะห์เนื้อเรื่องไปพร้อม ๆ กับนักเรียน ช่วยให้เรามีโอกาสสอนวิธีคิด วิธีวิเคราะห์สถานการณ์ ความเป็นเหตุเป็นผล และการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญแก่เด็กไปด้วยครับ

….เหมือนพ่อแม่ กำลังเล่านิทานให้ลูก ๆ ฟังยังไงล่ะครับ…..

วิธีนี้อาจจะยากหน่อย สำหรับคนที่งานนอกเยอะ (นอกเหนือการสอน) เพราะต้องใช้เวลาอยู่กับนักเรียนทั้งคาบ สิ้นพลังงานไปเยอะเหมือนกัน อาจจะลดทักษะด้านการอ่านและถอดคำประพันธ์ไปบ้าง แต่ถ้ามันจำเป็นต้องเลือกจริง ๆ ขอสอนแบบสอดแทรกทักษะชีวิตไปด้วยดีกว่าครับ แหม่ Teacher Center กันสุด ๆ

ส่วนทักษะ(หรือตัวชี้วัด) อื่น ๆ ก็ต้องไปเน้นในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป

สัญญาว่าจะหาวิธีที่เหมาะสม และพัฒนาการสอนและวิธีจูงใจที่จะให้นักเรียนได้รับไปครบทุกทักษะต่อไปนะครับ

ถ้าคุณครูภาษาไทยท่านอื่นผ่านมาจะช่วยชี้แนะกระผมในครั้งนี้ก็จะยินดีมากครับ ^^

แต่สิ่งหนึ่ง ที่ผมรู้ดีแน่ ๆ เลยก็คือ
อย่าไปสอนแบบนี้ ตอนที่มีคนมาประเมินเชียวนะครับ แหม่

 

  • กด like แฟนเพจ