“ความสุขที่หายไป” จากอะไรอะไรก็ครูถึงกระทรวงศึกษาธิการ

การศึกษาไทยทุกวันนี้

“ความสุขที่หายไป”

เราตั้งคำถามกับคนเป็นครูกันบ่อยครั้งว่า “เลือกเป็นครูเพราะอะไร” ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นแทบจะตรงกัน คือ “เรามีความสุขที่ได้มอบความรู้ให้แก่นักเรียน” หรือ “การอบรมสั่งสอนให้นักเรียนของเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ”

ดังนั้น ครูทุกคนจึงมีความสุขเสมอ เมื่อได้อยู่กับเด็ก ๆ ได้ถ่ายทอดความรู้ ได้ช่วยเหลือคอยชี้แนะแนวทางแก้ปัญหา คอยอบรมสั่งสอน ด้วยความรักแก่นักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูทั้งหลายเคยได้รับมา สมัยที่ยังเป็นนักเรียน และก็ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะทำตามต้นแบบของตน

ปัจจุบัน การศึกษาไทยมีการวางระบบมากขึ้น มีการประเมินคุณภาพที่โรงเรียนจะจัดให้แก่นักเรียนอย่างรอบทิศ  ตั้งแต่การเรียน ความประพฤติ การดูแลปัญหาด้านพฤติกรรม การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม การดำรงชีวิตอย่างพอเพียง  การป้องกันด้านสาธารณสุข  การพัฒนาศักยภาพด้วยการแข่งขันต่าง ๆ และการวัดมาตรฐานอีกหลาย ๆ ด้าน ที่ทยอยส่งมาจากส่วนกลาง และระดับเขตพื้นที่

สิ่งเหล่านี้เป็นภาระงานที่นักวิชาการหลายท่านบอกว่า “ครูทุกคนต้องทำอยู่แล้ว มันเป็นหน้าที่” ซึ่งตรงจุดนี้ครูทุกคนไม่มีใครโต้แย้ง เพียงแต่ปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อทุกอย่างต้องมีการประเมิน โดยมีเอกสารและการจัดการต้อนรับ เป็นตัวละครหลัก

และระบบเหล่านี้เอง ที่ทำลายความสุขของคนเป็นครูมาได้สักช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว

จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า ที่ได้ก่อตั้งทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อะไรอะไรก็ครู” (www.facebook.com/EverythingIsTeacher) เป็นเวลา 2 ปี ขณะนี้มีผู้กดไลก์ อยู่ประมาณ 128,000 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นครูในระบบการศึกษานั้น ข้าพเจ้าพบว่าครูทั้งประเทศกำลังมีปัญหาและได้รับผลกระทบจากนโยบาย หรือระบบการวัดและประเมินผลต่าง ๆ คล้าย ๆ กัน

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดจากภาระงานที่มากไป และทุกภาระงานถูกกดดันด้วยการประเมิน

ไม่มีครูคนไหนอยากทำหน้าที่นี้มากกว่าการได้สอนอยู่ในชั้นเรียน เพียงแต่ต้องทำเพราะเป็นคำสั่งซึ่งมีผลต่อหน้าที่การงาน ยิ่งนานวันเข้าภาระงานต่าง ๆ ก็ยิ่งสะสม หลายครั้งโรงเรียนต้องเสียเวลาเตรียมการหลาย ๆ อย่าง เพื่อรอรับการประเมิน  ซึ่งถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารมาโดยตลอด  ทำให้ต้องเสียเวลาเรียนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบทั้งหมด จึงถูกส่งต่อไปยังนักเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการทดสอบระดับชาติอย่าง  O-NET

ภาพตัดกลับมาที่โรงเรียน ในช่วงเดือนธันวาคม จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลายโรงเรียนมีการปรับตารางสอน เพื่อเอื้อให้มีการ “ติวโอเน็ต”

“ทำไมต้องติว” เป็นคำถามที่ผุดในใจของทั้งครูและนักเรียนหลายครั้ง เมื่อถึงช่วงเทศกาลก่อนการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ทั้ง ๆ ที่เป็นการวัดการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ที่ผู้เรียนได้เรียนมาทุก ๆ 3 ปี เป็นความรู้ที่มาจากหลักสูตร และตัวชี้วัดที่นักเรียนควรจะได้รับเมื่อเข้ามาศึกษาในโรงเรียน

หากมองในแง่ของความจำเป็นของการวัดผลของ O-NET  โดยไม่นำคุณภาพของข้อสอบหรือความเท่าเทียมกันทางการศึกษามาพิจารณาประกอบ การสอบระดับชาติ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทดสอบคุณภาพของผู้เรียน

ในทางทฤษฎี ได้กำหนดหลักสูตรขึ้น แล้วครูก็นำหลักสูตรนั้นมาออกแบบการจัดการเรียนรู้ บันทึกผลการสอนและแก้ไขซ่อมเสริมนักเรียน จากนั้นก็พร้อมเข้าสู่การทดสอบ เมื่อผ่านการทดสอบก็นำผลนั้นมาพัฒนาหรือหาบกพร่องต่อไป
แต่ในทางปฏิบัติ ครูทุกคนถูกกดดันจากผู้บริหาร (ซึ่งคาดว่าถูกกดดันมาก่อนหน้า) ให้ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีผลคะแนนตกต่ำ (โดยไม่คิดว่าตัวแปรเป็นนักเรียนคนละปีการศึกษากัน)

ความกดดันนี้ ถูกเริ่มขึ้นในต้นปีการศึกษา ให้มีการจัดอบรมการจัดทำหน่วยการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  โดยให้ครูไปอบรมการทำแผนการสอน เพื่อให้ได้กลับมาทำแผนการสอนสำหรับสอนนักเรียน  มีการตั้งรางวัลจูงใจให้โรงเรียนที่มีระดับผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้น แต่ครูเมื่อกลับมาทำงานที่โรงเรียน ก็พบว่ามีงานอีกหลายอย่างที่ต้องทำ ซึ่งแต่ละงานล้วนเป็นงานเร่งด่วน และต้องการเห็นผลทันที การแข่งขันทักษะที่ต้องทำยอดผลรวมให้ชนะโรงเรียนคู่แข่ง  การหาทุนสนับสนุนสร้างอาคารสถานที่  ระดมทุนซื้อคอมพิวเตอร์ การประเมินโรงเรียนระดับต่าง ๆ  การประกันคุณภาพ ภาระงานอื่นที่ควบคู่กับการสอน เช่น ธุรการ การเงิน พัสดุ  อาคารสถานที่  งานอนามัยโรงเรียน  งานสหกรณ์ร้านค้า เป็นต้น

การสอนยังคงเป็นเรื่องหลัก แต่ภาระงานที่มากเกินไป ส่งผลให้วิธีการทำงานของครูในโรงเรียนต้องเป็นแบบ “งานต่องาน” คือจบงานนี้ ก็วางแผนต่ออีกงานหนึ่ง เมื่อว่างเว้นจากภาระงานเร่งด่วนอื่น ๆ จึงจะได้เข้าไปสอน (ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก) จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า เมื่อถึงช่วงก่อนสอบโอเน็ต ทั้งครูและนักเรียนจะมีความพร้อมแค่ไหน

บางทีมีแนวคิดหรือทฤษฎีอะไรใหม่ ๆ ที่คิดขึ้นมาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก็มีคำสั่งด่วนให้ครูไปอบรมแล้วนำมาใช้ในห้องเรียน แล้วก็ถ่ายทอดกันมาแบบไม่เข้าใจถึงแก่นและปัญหาที่แท้จริง  ครูก็ต้องเสียเวลาปรับตัว ปรับวิธีการสอนและทำรายงานการสอนส่งกลับ เป็นการซ้ำเติมภาระให้ครูต้องห่างไกลจากนักเรียนอีกทางหนึ่ง เมื่อรวมกับคาบสอนที่มีชั่วโมงล้นมือ ทุกอย่างล้วนส่งผลให้ “วิถีชิวิตของครู” ไม่ตอบโจทย์กับการพัฒนานักเรียน อย่างที่มีใครท่านหนึ่งได้กล่าวไว้

การกดดันต่าง ๆ (ที่มีแม้กระทั่งจะมอบปี๊บให้โรงเรียนที่คะแนนต่ำ) ส่งผลให้โรงเรียนแต่ละโรงเรียน จะยอมให้ผลสัมฤทธิ์ตกต่ำไม่ได้ และสิ่งที่นำมาใช้แก้ปัญหาในระยะเวลาที่จำกัดนั่นคือ “การติว”

แล้วคุณภาพของนักเรียนและการศึกษาไทยจะอยู่ตรงไหน ?

น่าแปลกใจหรือไม่ที่หลาย ๆ โรงเรียนกลับผ่านการประเมินคุณภาพ ทั้ง ๆที่ผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพตกต่ำเป็นอันดับท้าย ๆ ของอาเซียน

แทบทุกครั้งที่มีผลวิจัยระบุว่าการศึกษาไทยตกต่ำ ทุกคำถามก็จะมุ่งมาที่คุณภาพของคนเป็นครูเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่เคยเข้าใจเลยว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในโรงเรียน และมันกระทบต่อวิถีชีวิตของการทำหน้าที่ครูกันแค่ไหน

และที่สำคัญคือ เสียงสะท้อนของครู ไม่เคยดังพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย แม้เราจะพูดเรื่องนี้กันนับหมื่นครั้งแล้วก็ตาม

ทุกวันนี้ ความสุขที่เกิดจากบรรยากาศของการเรียนรู้ในโรงเรียนได้หายไปหมดแล้ว ไม่เฉพาะความสุขของคนเป็นครูเท่านั้น แต่นักเรียนซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดก็กำลังไม่มีความสุข

ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องกลับมาเปิดใจให้กว้าง และย้อนดูภาพรวมกันอีกครั้ง

ในฐานะของคนเป็นครูคนหนึ่ง ข้าพเจ้ายังหวังที่จะได้เห็นนักเรียนที่มีคุณภาพ  พร้อมที่จะออกไปสู่โลกภายนอก และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอีกครั้ง เพราะทั้งหมดนี้ คือความสุขของคนเป็นครู

 

 

 

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นประกอบภาพ “การศึกษาไทยทุกวันนี้” ที่แชร์ในเพจ อะไรอะไรก็ครู
โดย สพฐ. จะรวบรวบทความที่เกี่ยวข้องไปเสนอในเวทีเสวนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการศึกษาขั้นพื้นฐานครับ

  • กด like แฟนเพจ