ครูบ้านดอย 13 (ตอน Lost, sad but beautiful)

สูญเสีย โศกเศร้า แต่สวยงาม

สายฝนกลางพรรษาที่ตกหนักบ้างเบาบ้างติดต่อกันเกือบ 3 วัน หยุดทำงานลง
เหลือเพียงท้องฟ้าที่ยังมืดครึ้มไร้แสงแดด ดั่งท้องฟ้าจะรู้ ว่าวันนี้ชาวบ้านดอยยังไม่อยากให้มีเม็ดฝนโปรยลงมา

 

ครูบ้านดอยสะพายกระเป๋ากล้องตัวเก่งจอดมอเตอร์ไซค์ไว้บ้านตรงข้ามงาน   สีแดงของมอเตอร์ไซค์ตัดกับเสื้อสีดำจำนวนนับร้อยของผู้ที่มาร่วมงาน ลุงสาย (คนอื่นเรียกผู้ช่วยสาย แต่ผมเรียกลุงสาย ตำแหน่งเต็มคือ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสายสิทธิ์ ก้างยาง) กวักมือเรียกให้ไปนั่งโต๊ะกินข้าวร่วมกับแก

ภาพเมื่อสองเดือนก่อนที่ไปเมาหัวทิ่มที่บ้านลุงสายแว้บเข้ามาในสมอง

ที่จริงวันนั้นสาโทกับเหล้าขาว 40 ดีกรี ไม่ได้ทำร้ายผมมากหรอก  แต่จังหวะที่จะเอาแก้วเหล้าไปยื่นให้คุณป้าเมียลุงสายนี่สิ ผมเขย่งไปบนท่อนไม้มะพร้าวที่ตัดมาทำเป็นม้านั่ง เรื่องน่าเศร้าของวันนั้นคือไม่มีใครบอกว่าฐานมันไม่เท่ากัน … ท่านอนตะแคงเป็นท่าที่สบายสำหรับพื้นดินบ้านลุงสายในวันนั้น

บนโต๊ะไม้ขนาด 1 x 3  เมตร มีอาหารระดับขันโตกวางอยู่จนเต็มถาดสี่ใบ  มีทั้งน้ำพริกอ่อง แกงยอดมะพร้าวอ่อน หมูทอด  ผักลวก และข้าวเหนียวใส่ถุงไว้พอดีกับจำนวนที่นั่ง  กลุ่มแม่บ้านคอยเติมไม่ให้กับข้าวพร่องลงไปแม้แต่ 1 เซ็นติเมตร (บางทีผมว่าพี่นั่งกันบ้างนะครับ ผมเกรงใจ)

6 โมงเช้าของสองวันก่อน ผู้ช่วยบาง (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสหภพ ก้างยาง) มาที่บ้านผม เพื่อขอให้มาช่วยถ่ายรูปในงานฌาปณกิจศพพ่ออุ๊ยอ้าย  ก้างยาง อายุ 78 ปี (พ่ออุ๊ย ภาษาเหนือ แปลว่า ตา หรือปู่ บางที่เรียกพ่อหลวง แต่คำว่าพ่อหลวงจะแปลเป็นอีกความหมายว่าผู้ใหญ่บ้านได้ด้วย) ตอนแรกผมก็ไม่กล้ารับปาก เพราะวันธรรมดาก็ต้องไปสอนอยู่แล้ว จึงบอกว่าทางผมไม่มีปัญหาครับ  ต้องขออนุญาตครูใหญ่ (คนอื่นเรียก ผอ.แต่ผมเรียกครูใหญ่) ซึ่งก็ไม่มีปัญหาครับ เนื่องจากผู้ช่วยบางก็เป็นหนึ่งในกรรมการสถานศึกษา และขออนุญาตไปในช่วงบ่าย รวมทั้งครูใหญ่ (คนอื่นเรียกผอ.แต่ผมเรียกครูใหญ่) ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งตากล้องในอีกสองวันถัดมา

——————

พิธีศพของคนภาคเหนือในชนบบจะตั้งศพไว้ที่บ้านครับ  สวดตอนกลางคืน ตั้งไว้ 3  5 หรือ 7 วัน แล้วแต่เจ้าภาพ  แต่ส่วนใหญ่จะ 3 คืนครับ เวลาประมาณเที่ยงครึ่งของวันสุดท้าย ก็จะเคลื่อนศพจากบ้านไปสู่ป่าช้าของหมู่บ้าน โดยตอนแรกนั้น ศพจัดตั้งอยู่ในบ้านครับ คืนสุดท้ายก็จะยกลงมาใส่ไว้ในปราสาท ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่จะให้ผู้ตายได้อยู่ปราสาทบนสวรรค์ เมื่อก่อนปราสาทจะใช้โฟมเป็นวัสดุหลักอย่างเดียวเลย เพราะแกะง่าย เผาง่าย แต่หลัง ๆ มีการดัดแปลงเป็นศาลาไทยเล็ก ๆ พอจะเผาก็ยกโลงศพออก แล้วศาลาก็นำมาใช้ต่อให้เป็นที่หลบแดดหลบฝนได้ครับ

ผมเดินถ่ายรูปเก็บบรรยากาศในงาน ซึ่งแขกผู้มีเกียรติส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำชุมชนครับ เพราะเจ้าคือผู้ช่วยบางลูกชายของผู้ตายนั้นเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในงานก็มีทั้ง สจ. นายก อบต. สมาชิก อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านอีกมากมาย เรียกว่างานนี้ถ่ายไปไหว้ไปเลยล่ะครับ  ที่นี่ผมต้องรีบไหว้ครับ เพราะถ้าผมไหว้ช้า ท่านผู้นำทั้งหลายจะไหว้ผมก่อนครับ คือเค้าให้เกียรติเรามาก แต่ถ้ารักกันจริง ให้ผมไหว้ก่อนเถอะครับ  เพราะทุกท่านมีอายุกว่าผมทั้ง

ประมาณเที่ยงครึ่ง  ก็ได้เวลาเคลื่อนปราสาทเข้าสู่ป่าช้าครับ ซึ่งป่าช้านี้ก็จะตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านพอสมควรครับ ผมเคยถามพ่อว่าทำไมที่เผาศพของคนภาคเหนือถึงไม่อยู่ในวัดแบบภาคกลางบ้าง พ่อบอกว่า ส่วนใหญ่วัดมักจะตั้งในเขตชุมชนครับ  และคนทั่วไปก็ไม่อยากให้ป่าช้าอยู่ใกล้บ้าน ดังนั้นทำป่าช้าให้อยู่ไกล ๆ ดีกว่า (นี่เป็นเหตุผลของพ่อนะครับ)

P1290803

 

 

 

 

 

 

 

 

รถกระบะป้ายทะเบียนพะเยาจอดเทียบด้านหน้าปราสาท   ถ้าเป็นเมื่อก่อนแถวบ้านผมจะมีรถลากศพคันใหญ่ มีคนนั่งขับคอยบังคับล้อให้เลี้ยวซ้ายขวา แต่ไม่มีเครื่องยนต์ ขับเคลื่อนด้วยแรงศรัทธาจากคนที่มาช่วยกันลากไปป่าช้า  แต่ที่นี่ใช้รถกระบะมาพ่วงด้วยอีก คาดว่าคงทุ่นแรงได้บ้าง

P1290809

 

 

 

 

 

นี่เป็นส่วนที่ดัดแปลงให้ต่อเข้ากับตัวรถกระบะได้ครับ

 

P1290811

 

ด้านหน้าของรถกระบะมีโฆษกนั่งอยู่ จะเรียกว่าเอ็นเตอร์เทนคนลากก็เกรงใจลักษณะงาน แต่เอาเป็นว่า “โฆษก” ก็จะพูดไปเรื่อย ๆ หยิบเอาแง่คิด คติการใช้ชีวิต หรืออะไรที่เป็นภูมิปัญญาของคนเหนือมาพูด มาเล่าสู่กันฟังไปตลอดทาง

หน้าสุดของขบวนนั้น ปกติต้องเป็นพระซึ่งรวมทั้งลูกหลานของผู้ตายที่จะบวชหน้าไฟเป็นผู้ลากนำขบวน แต่วันนี้ไม่รู้พระไปไหน  คาดว่าจะนั่งรถไปรอที่ป่าช้าแล้ว  (เห็นเขาถามหาพระกันอยู่เหมือนกัน) สุดท้ายก็เป็นผู้นำของหมู่บ้าน คือผู้ใหญ่บ้านหรือพ่อหลวงเป็ง เป็นผู้นำขบวน

P1290845

ครูใหญ่ (คนอื่นเรียกผอ.แต่ผมเรียกครูใหญ่) พาเดินสวนขบวนมาที่รถเก๋งคันงาม ขับไปอีกทางหนึ่งครับ ทางที่ขบวนไปนั้นเดินตัดผ่านทุ่งนาครับ ส่วนทางรถอ้อมไปเข้าที่สำนักงานเขตบ้านแม่บงใต้ผ่านป่าช้าของแม่บงใต้ ถัดไปอีกนิดก็ถึงป่าช้าบ้านดอย ผมถามครูใหญ่ว่าทำไมเขาไม่ใช้ร่วมกัน ทั้งที่ใกล้กันขนาดนี้ ครูใหญ่ (ไม่บอกว่าคนอื่นเรียกผอ.แต่ผมเรียกครูใหญ่แล้วนะครับ ไม่ได้กลัวคนอ่านรำคาญแต่ผมเริ่มขี้เกียจพิมพ์แล้ว) บอกผมว่า เป็นเพราะทั้งสองหมู่บ้านเป็นคนละจารีตกัน คือบ้านดอยเป็นจารีตกระเหรี่ยง  บ้านแม่บงใต้เป็นจารีตล้านนา (แต่เมื่อดูขั้นตอนพิธีต่าง ๆ แล้วก็เหมือนกันน่ะครับ เป็นการฌาปนกิจแบบธรรมเนียมพุทธนี่นา เมื่อไปถึงป่าช้าก็รู้สึกว่าตัวเองคิดถูกแล้วที่นั่งรถมาก่อน

 

P1290851

ไม่ใช่เพราะทางมันไกลนะครับ แต่การมาถึงก่อนทำให้มีเวลาสังเกตความงามรอบ ๆ ป่าช้า  คือในป่าช้าไม่งามหรอกครับ  ออกจะวังเวงนิดหน่อยด้วย เพราะว่ามาถึงเป็นคันแรก ๆ เลย  แต่ทางเข้าก่อนถึงป่าช้าเป็นทุ่งนากว้าง ๆ ที่ต้นข้าวกำลังเขียวสดใส แม้ท้องฟ้าจะมืดครึ้ม แต่ก็ไม่สามารถกลบความงามของภาพนี้ได้  มองลิบ ๆ เห็นหลังคาอบต. ข้าง ๆ อบต.เป็นที่นาของโรงเรียน ดอยเตี้ย ๆ ด้านหน้าก็เป็นที่ตั้งของโรงเรียนซึ่งย้ายจากที่นาข้างอบตไปแล้วนั่นแหละครับ

panofield

 

P1290856

 

 

ดูจากสภาพทางแล้วจำเป็นต้องใช้แรงรถช่วยบ้างจริง ๆ ครับเพราะสภาพหนทางไม่เอื้อต่อการลากจูงจริง ๆ บางจังหวะก็ติดหล่มนะครับ  ก็ต้องช่วยกันเข็น ช่วยกันดันแหละครับ โฆษกพูดได้น่าฟังนะครับ “งานไหนที่เราทำเองมันจะท้อ แต่เมื่อมีคนเยอะ ๆ งานก็จะสนุกเอง”

P1290865

 

 

 

ขบวนเดินตัดผ่านท้องทุ่งนา  ใจกลางขบวนคือร่างที่สิ้นอายุขัย  แต่รอบ ๆ คือต้นข้าวที่กำลังรอวันเติบใหญ่  เป็นธรรมดาของโลกที่มีเกิดและมีดับ

 

 

ที่เห็นถือไม้ยาว ๆ แล้วมีกระดาษรูปทรงแปลก ๆ นี้ เค้าเรียกว่าตุงสามขาครับ (ตุงก็คือ ธงของภาคเหนือ)  คุ้น ๆ ว่าเขามีชื่อเรียกที่เพราะกว่านี้นะครับ แต่ความเคยชินทำให้หลายคนก็เรียกว่าตุงสามขานี่แหละ  ตามความเข้าใจของผม  คงเป็นการใช้แทนวิญญาณที่จะเข้าสู้ป่าช้าน่ะครับ

P1290883     P1290903 (1)

เมื่อไปถึงป่าช้าเค้าก็จะวางตุงไว้ที่เชิงตะกอนแบบนี้ครับ

 

 

 

 

ทีนี้งานก็เริ่มเข้าแล้วครับ  โดยผมต้องถ่ายรูปเจ้าภาพกับญาติพี่น้องแต่ละหมู่บ้านครับ ซึ่งเยอะพอสมควร  เป็นญาติจากหมู่บ้านต่าง ๆและแขกผู้เกียรติทั้งหลาย

แต่ภาพหนึ่งที่ทำให้ผมตื่นตันคือภาพสุดท้ายที่เจ้าภาพถ่ายร่วมกับบรรดาพ่ออุ๊ย

โฆษกประกาศเชิญกลุ่มผู้สูงอายุ  ซึ่งก็ตามธรรมดาที่จะต้องมีคนที่ยึกยักเพราะกลัวกล้องอยู่บ้าง โฆษกพูดว่า “รีบออกมาถ่ายด้วยกันนะครับ นึกถึงตอนเป็นบ่าว (เป็นหนุ่ม) เคยไปแอ่วสาวด้วยกัน เคยเล่น เคยกินเหล้าด้วยกัน”

ใช่แล้วครับ  คำว่า “เพื่อน” มันลอยขึ้นมาในใจ ไม่รู้จะอธิบายยังไง  แต่ภาพที่เห็นคือกลุ่มเพื่อนของพ่ออุ๊ยที่ยังมีชีวิตอยู่  มาร่วมกัน “เผาเพื่อน” เป็นภาพที่ไม่มีทุ่งนาสีเขียว ไม่มีท้องฟ้าสีใส  แต่เป็นภาพที่เปี่ยมล้นในด้านความหมาย ผมที่ไม่เห็นความเศร้าในภาพนี้  แต่กลับเจอความอบอุ่นและมิตรภาพ

 

ไม่ว่าตอนไหน  คำว่า “เพื่อน” ยังคงสวยงามและมีความหมายเสมอ

 

แต่ที่งานเข้าจริง ๆ เห็นจะเป็นแขกผู้มีเกียรติที่มามอบผ้าบังสุกุล  ซึ่งก็เป็นผู้มีตำแหน่งทั้งหลายจนครบเลยครับ  โฆษกถึงกับแซวผมว่า “เป็นตากล้องไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ นะครับ เหงื่อออกอย่างกับไปเก็บข้าวโพดมาแหนะ”

…หลังเปียกเลยจริง ๆ

 

 

 

 

เมื่อวางผ้าบังสุกุลเสร็จ พระก็จะมารับไป นัยว่าในสมัยพุทธกาลก่อนที่พระจะใช้ผ้าห่อศพ มาต้มและย้อมกับเปลือกไม้มาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งปัจจุบันผ้าเหลืองที่พระนุ่งห่มก็เป็นผ้าสำเร็จรูปหมดแล้ว ผ้าบังสุกุลจึงเป็นเพียงการสืบทอดธรรมเนียมเท่านั้นเอง

 

 

วันนั้นค่อนข้างจะรีบทำเวลาพอสมควรนะครับ เพราะไม่รู้ว่าพระพิรุณจะให้เวลาพวกเราแค่ไหน  เมื่อพิธีเสร็จหมู่ญาติผู้ตายก็ทำพิธีขอขมาศพ เพราะว่าจะทำการยกศพขึ้นสู่เชิงตะกอน  ที่นี่ยังไม่มีเตาเผาครับ

 

P1300003 P1300041

ของดรูปขั้นตอนก่อนการเผาละกันนะครับ  รู้สึกตอนนี้จะยาวเป็นพิเศษ (เพราะรูปเยอะ) หลังจากขอขมาแล้วญาติและผู้มีกำลังทั้งหลายก็จะช่วยกันยกโลงศพขึ้นสู่เชิงตะกอน จากนั้นก็จะเปิดฝาโลงแล้วใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ  ช่วงนี้เป็นช่วงที่น่าเศร้าจริง ๆ นะครับ เพราะญาติจะเห็นหน้าผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย หลานของพ่ออุ๊ยอ้ายมีกล้องดิจิทัลตัวเล็ก ๆ ก็ไปถ่ายหน้าพ่ออุ๊ยไว้  ผมไม่ได้ตามขึ้นไปถ่ายเพราะใจไม่แข็งพอ  จากนั้นก็จะยกปราสาทที่ถอดเก้าอีกพลาสติกออกแล้วไปวางทับโลงศพอีกที

 

ผู้มาส่งศพก็วางดอกไม้จันท์เป็นการไว้อาลัยรวมทั้งอวยพรให้ไปสู่สุขคติ

 

ทีมงานวางเพลิงเริ่มต่อสายไฟไปยังปราสาท  เมื่อทุกคนออกห่างจากบริเวณเชิงตะกอนเสียงระเบิดก็ดังขึ้นพร้อมกับเปลวไปที่ ลุกโชนเพราะน้ำมันที่ราดลงไปก่อนแล้ว

กลุ่มควันลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าคล้ายจะนำพาพ่ออุ๊ยอ้ายไปอยู่ยังสรวงสวรรค์

ไม่มีใครรู้จริง ๆ หรอกว่าตายแล้วไปไหน  และตายแล้วไปไหนก็ยังเป็นคำถามที่ยังถามอยู่เสมอ

แต่สิ่งที่รู้ในวันนี้  ถ้าเราหมั่นทำความดีไว้  เมื่อตายไป เราก็จะได้เข้าไปอยู่ในใจของลูกหลานและคนรุ่นหลัง  … ตลอดไป

 

 

ทำดีกันเข้าไว้ดีกว่าครับ

 

 

ปล. ผมได้มีโอกาสทำความรู้จักกับโฆษกหลังจากนั้นอีกครั้ง ท่านเป็นคุณครูอยู่อีกโรงเรียนหนึ่ง และมีบทบาทสำคัญในการแนะนำผมให้ได้ย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งมายังโรงเรียนนครวิทยาคมในเวลาต่อมาครับ

 

  • กด like แฟนเพจ