ร่าง educa talk ครูเปลี่ยน นักเรียนเปลี่ยน (ฉบับ uncut)

hqdefault 59 - 1

 

(ชมคลิปได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=CL6rlpBlgso )
สวัสดีทุกท่านที่เป็นความหวังของการศึกษาไทยครับ

 

วันนี้เป็นครั้งแรก ที่ผมได้มีโอกาสขึ้นมาพูด ในงานที่มีคนรอฟัง ตั้งใจฟังแบบนี้ ฝ่ายจัดงานให้ผมถือไมค์พูด แต่ผมก็ยืนยันที่จะขอขาไมค์ เนื่องจากผมรู้ว่า ถ้าผมยืนถือไมค์ ความตื่นเต้นจะทำให้มือผมสั่น และการถือไมค์แบบสั่น ๆ จะทำให้ความหล่อลดลงอย่างน้อย 30 % ดังนั้นขาไมค์ในวันนี้จึงเป็นคำตอบที่ดีของผมครับ

ทุกท่านครับ ดูเหมือนว่าการศึกษาไทยทุกวันนี้ ทุกคนจะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. หรือใครก็ตามที่เป็นคนคิดหลักสูตรหรือนโยบายอะไรขึ้นมาสักอย่าง

เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้นครับ

เราจะข้ามเรื่องการตัดสินว่าหลักสูตรหรือนโยบายเหล่านั้นมันดีหรือไม่ดีไปก่อนนะครับ

แต่วัดกันจากความรู้สึก เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันไม่โอเค มันไม่ตอบโจทย์ มันไม่สมเหตุสมผล มันต้องเรียนรู้เยอะเกินความจำเป็น มันไม่เข้ากับสถานการณ์ใด ๆ ของโลกปัจจุบัน ไม่ตรงบริบท และไม่ตรงกับจริตของนักเรียนที่เราสอน

 

อ้าวแล้วเรารู้ได้ยังไงครับ ?

 

หลายคนคงตอบในใจ “ก็ฉันสอนของฉันทุกวัน”

ฉันรู้ดีกว่าใครว่าเด็กฉันเป็นยังไง ฉันรู้ดีว่านโยบายพวกนี้มันใช้ไม่ได้กับสถานการณ์จริง มันดึงเวลาฉันออกจากห้องเรียน ฉันไม่ได้สอน เด็กไม่ได้อะไรเลย

 

ก็ใช่ไงครับ  ใครจะไปรู้ดีกว่าคนที่อยู่กับเด็กทุกวัน อย่างคุณครูเราล่ะครับ

ใครจะไปรู้ดีกว่าผม ว่ามือผมจะสั่นเวลาตื่นเต้น มากกว่าผมที่เป็นเจ้าของมือ และอยู่เคียงข้างมันทุกครั้งเวลาที่ผมตื่นเต้น

 

เมื่อรู้ว่าสิ่งที่เขาอยากให้เราทำมันไม่เหมาะกับเรา ก็ต้องขอปรับให้มันเหมาะกับตัวเอง

 

#การศึกษาก็เช่นกันครับ (ทำมือแฮ็ชแท็ก)

 

อย่าเพิ่งคิดว่าผมชวนครูให้ลุกมาต่อต้านนโยบายรัฐนะครับ เพราะจริง ๆ ผมก็เห็นใจฝ่ายที่ต้องคิดนโยบายเพื่อคนหมู่มาก ว่ามันลำบากแค่ไหน ที่จะให้ทุกอย่างมันตอบโจทย์ของคนทั้งประเทศ แถมหยิบจับตรงไหนก็เจอแต่ปัญหาไปซะหมด

เพียงแต่ผมอยากเสนอให้ทุกท่านได้ทำสิ่งที่ควรทำ นั่นคือให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางจริง ๆ  ให้เขาได้เติบโตในแบบที่พวกเขาควรจะได้รับสิ่งดี ๆ จากหยาดเหงื่อและจิตใจของคนที่เป็นครูของพวกเขาครับ

 

ทุกท่านครับ ทุกวันนี้ครูไทยน่าสงสารมากครับ โดยเฉพาะครูใหม่ ๆ

ใครจะคิดว่าเราจะต้องเจอกับเรื่องราวไม่คาดฝันเหนือจินตนาการของอาชีพครูได้ขนาดนี้

 

แต่ทุกท่านครับ เด็กนักเรียนของเราในทุกวันนี้น่าสงสารมากกว่าครับ พวกเขาแทบไม่มีทางเลือกใด ๆ ในการหาความรู้ แล้วเป็นการเสียเวลามากถ้าสิ่งที่เราสอนเขาทุกวันนี้ จะเป็นสิ่งที่เขาจะไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตของเขาเลย

 

แล้วครูตัวเล็ก ๆ อย่างเราจะทำยังไงดี

 

เรารอฮีโร่มาแก้ปัญหานี้ไม่ได้แล้วครับ เราทุกคนจะเป็นฮีโร่ให้กับเด็ก ๆ ครับ

 

โดยหัวใจของการปรับ คือ “ความจำเป็น” ที่เราต้องเลือกให้กับเด็ก ภายในระยะที่จำกัดครับ เพราะอย่างที่บอกว่าเนื้อหาตามหลักสูตรมันมีเยอะมาก และเวลาที่หายไปกับการทำกิจกรรมอื่น ๆ  รวมกับนโยบายที่เปลี่ยนบ่อยยิ่งกว่าน้ำขึ้นน้ำลง มันทำให้เด็กไทยเราด้อยลงทุกวัน เพราะเอาดีด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้สักที

ผมสอนที่โรงเรียนนครวิทยาคม เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เป็นโรงเรียนเล็กที่เราต้องยอมรับว่าไม่ใช่ตัวเลือกอันดับหนึ่งของนักเรียนที่เรียนเก่งและมีความพร้อม ดังนั้นตามทรัพยากรที่เราได้รับมา ถ้าเราเอาหลักสูตรมากาง แล้วดูว่าพวกเขาต้องเรียนอะไรบ้าง ต้องมีความรู้อะไรบ้าง ภายในระยะเวลาที่มีอยู่ย่างจำกัด ถ้าต้องอัดทุกอย่างเข้าไป พวกเขาจะไม่ได้อะไรเลยครับ

เกรดออกก็ได้น้อย บางงานยากไปนักเรียนบางคนก็ไม่เอาเลย ไม่ส่งงานมันซะอย่างนั้น บางงานก็ไม่รู้จะให้ทำไปทำไม เพราะปัจจุบันก็ไม่ได้ใช้แบบนี้กันแล้ว บางเรื่องแทบจะไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเขาเลย แต่ก็ต้องสอน ต้องสั่งงาน เพราะอยู่ในตัวชี้วัดในหลักสูตร

ตอนแรกผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า มาตรฐานของเราอยู่ตรงไหน เราจะเมตตาให้คะแนนช่วยเยอะ ๆ ง่าย ๆ หรือรักษามาตรฐานของตัวเองไว้แล้วแจก 0 แจก ร.

สุดท้ายก็เลือกอย่างหลัง นักเรียนติด 0 กับ ร. กันเกือบครึ่งห้อง แล้วเราก็พบว่านักเรียนของเราเป็นทุกข์ และเราเองก็เป็นทุกข์

ผมกลับมาทบทวนตัวเองใหม่ หาวิธีการใหม่ โดยเชื่อมโยงการสอนกับเนื้อหาที่พวกเขาต้องใช้จริง ๆ สอนให้ลึกซึ้งจริง ๆ และวัดผลในแบบที่ควรจะเป็น ทั้งการส่งงานผ่านเฟซบุ๊ก เป็นไฟล์งาน ให้แต่งแคนโต้ หรือไฮกุ โดยถ่ายภาพในชุมชนแล้วใส่ตัวหนังสือลงไปในภาพ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไมได้มีในหลักสูตร แต่สิ่งที่ผมต้องการจะเน้นให้นักเรียนของผมในตอนนี้คือ ความคิด จินตนาการ และการเรียงร้อยถ้อยคำ มากกว่าตัวรูปแบบ

ถามว่าแล้วแบบนี้เด็กจะแต่งกลอนเป็นเหรอ ผมก็ตอบได้เต็มปากเลยครับว่า “ยาก” อาจจะเป็นความอ่อนหัดของผมก็ได้ที่ทำให้ผมไม่มีทางเลือกอื่น เพราะถ้าให้แต่งกลอน เด็กจะไม่ได้อะไรเลย ไปลอกจากที่อื่นมาบ้าง เครียดบ้าง แต่ถ้าเป็นไฮกุ พวกเขามีอิสระที่จะได้ปลอดปล่อยความคิด แสดงสุนทรียะทางภาษาในอีกรูปแบบหนึ่ง และนักเรียนรู้สึกว่าพวกเขา “อิน” กับงานชิ้นนี้ จนต่อยอดไปทำเป็นแฟนเพจ ถึงแม้จะไม่ดังถึงขนาดมีคนมากดไลก์มากมาย แต่เขาก็ได้เรียนรู้ว่าตัวเองก็มีคุณค่า มีความสามารถถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพและตัวอักษรได้

การแต่งกลอน กาพย์ โคลง ก็จะเป็นเรื่องที่เราจะไปส่งเสริมให้เด็กที่มีความสามารถด้านนี้จริง ๆ แต่ไม่ใช่การบังคับให้นักเรียนทุกคนทำ

 

การสอบก็เช่นกัน ผมอนุญาตให้นักเรียนนำหนังสือและเอกสารที่นักเรียนหาข้อมูลเตรียมมา เข้าห้องสอบได้ เพราะว่าในปัจจุบันนี้ความรู้ต่าง ๆ มันมีอยู่มากมาย ทักษะที่นักเรียนจะได้รับการปลูกฝัง มันควรจะเป็นทักษะในการค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเองมากกว่า เพราะเรามีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลได้มากมาย มันไม่จำเป็นต้องท่องจำเรื่องใดเรื่องหนึ่งเข้าไปตอบ ข้อสอบก็เป็นแนวการประยุกต์ใช้ ให้วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่เตรียมมามาใช้ตอบคำถามมากกว่า

 

แต่บางเรื่อง ผมก็ใช้วิธีโบราณในการสอนนะครับ

 

อย่างการสอนวรรณคดี ครูภาษาไทยรุ่นใหม่ ถูกปลูกฝังว่าไม่ควรมานั่งแปลให้เด็ก  อย่าเป็นศูนย์กลางที่เด็กต้องมานั่งล้อมวง เด็กควรได้เรียนรู้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักทฤษฎี

ซึ่งทฤษฎีใหม่ ๆ บางครั้งก็ไมได้เหมาะกับเด็กนักเรียนของเราครับ

 

ผมเคยใช้วิธีการให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม แบ่งเนื้อหาวรรณคดี แล้ววาดภาพตามเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับวรรณคดีในตอนที่นักเรียนอ่าน ปรากฏว่าในวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร แต่ละกลุ่มจะวาดออกมาเป็นรูปแบบคล้าย ๆ กัน คือมีสุนทรภู่นั่งเขียนกระดานชนวน พระอภัยมณียืนเป่าปี่ ข้าง ๆ มีนางเงือกซบตักอยู่ นางผีเสื้อสมุทรยืนเป็นฉากหลัง เอื้อมมือมาจะจับพระอภัย แต่ที่หนักกว่านั้นคือ มีบางกลุ่มวาดภาพ สุดสาครขี่ม้านิลมังกร มาส่งด้วย ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้น  พระอภัยมณียังไม่ได้กับนางเลือกเลยครับ นั่นคือนักเรียนไม่ได้อ่าน แต่ไปขุดเอาคอนเซ็ปต์เดิม ๆ มาวาดครับ

 

ต่อมา ผมเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ ใช้สื่อและอุปกรณ์มากขึ้น เช่น ให้นักเรียนช่วยกันคิดวิธีช่วยพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร โดยใช้สิ่งของที่ครูให้ไป เช่น ค้อน ที่ตักผง ตะหลิว กรรไกร (อะไรที่หาได้แถว ๆ นั้น) เด็ก ๆ ก็สนุกสนานในการนำเสนอ ส่วนครูต้องตั้งคำถามว่าแล้วมันจะหนีได้จริงเหรอ หรือพยายามแย้งว่ามันยังงั้นยังงี้ไปเรื่อย ๆ จนเด็ก ๆ เริ่มหาทางไปไม่ถูก แล้วค่อยนำเข้าเรื่อง โดยบอกนักเรียนว่า “ถ้าอยากรู้ก็ลองอ่านหาคำตอบดูสิครับ” (ทำเสียงแบบพิธีกรรายการเด็ก)

 

แต่ก็จะมีนักเรียนหลายคนอยู่ในอาการ “ถ้ามันยากขนาดนั้น กูไม่รู้ก็ได้วะ”

 

“……..”

 

 

สุดท้ายต้องกลับมาที่คำถามคือ “อะไรคือความจำเป็นเร่งด่วน” และ  “เราอยากจะให้อะไรกับนักเรียน” ซึ่งมันก็มีหลายเหตุผลที่ต้องเรียนวรรณคดีครับ แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนไปแปล ไปวิเคราะห์เอง นักเรียนจะรู้สึกว่ายากเกินไปแล้วก็พาลจะไม่อ่าน ไม่ทำงานนี้เลย หรือไม่ก็มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิชาภาษาไทยไปเลย

วิธีโบราณที่ผมนำกลับมาใช้ก็คือ การอ่านและวิเคราะห์เนื้อเรื่องไปพร้อม ๆ กับนักเรียน ช่วยให้เรามีโอกาสสอนวิธีคิด วิธีวิเคราะห์สถานการณ์ ความเป็นเหตุเป็นผล และการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญแก่เด็กไปด้วยครับ  เสียเวลามากหน่อย  แต่จากประสบการณ์แล้ว เด็กจะได้อะไรมากกว่าเราเราคิดครับ เพราะระหว่างนั้นเราสามารให้นักเรียนช่วยกันเชื่อมโยงและสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันได้

 

…………………….

วิชาชีวิตก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าวิชาความรู้ครับ

 

ปีที่แล้วห้องที่ผมประจำชั้นอยู่เป็นห้องชายล้วนครับ ลองจินตนาการนักเรียนชายล้วนชั้น ม.6 นะครับ หน้าโหด ๆ มีรอยสัก เริ่มมีหนวดเครา อยากไว้ผมยาว แอบตัดผมทรงอันเดอร์คัต มาเรียนมั่งไม่เรียนมั่ง มาสาย แอบกลับบ้านก่อน เรื่องงานแทบไม่ต้องพูดถึงครับ สั่งอะไรไปไม่เคยได้รับกลับมาครับ

 

ผ่านไปเทอมนึงผมท้อมากครับ เพราะห้องผมได้แชมป์มากที่สุดในหลาย ๆ รายการ ห้องที่มีนักเรียนมาสายที่สุด ขาดเรียนบ่อยที่สุด มีเรื่องกินเหล้า สูบบุหรี่มากที่สุด และติด 0 ร มผ. มากที่สุด (20 กว่าตัว) แถมพ่วงด้วยการทะเลาะวิวาทตอนแข่งฟุตซอล จนต้องยกเลิกการแข่งขันไปทั้งโรงเรียน

ผมและครูละมุด (ครูประจำชั้นอีกท่าน…เป็นห้องผลไม้ครับ มะนาวกับละมุด) ผมและครูละมุดปรึกษากันว่าเราต้องใช้ไม้แข็งบ้างแล้ว ทั้งการเก็บสถิติคนมาสาย ทำโทษ ให้วิ่งรอบสนาม ให้ลุกนั่ง หรือแม้กระทั่งงัดเอาวิธีที่เสี่ยงต่อหน้าที่การงานอย่างไม้เรียวมาใช้ในการทำโทษ

 

ผลคือไม่ดีขึ้นครับ ยิ่งทำก็ยิ่งเครียด จนเราตกลงกันว่า “พอแล้ว” กับเด็กพวกนี้ เราจะไม่ยุ่งอะไรกับชีวิตพวกเขาอีก จะมาเรียนตอนไหนก็มา ครูจะเข้าสอนเฉพาะคาบที่เราเจอกัน ตอนเช้าไม่เช็คชื่อ ไม่ตรวจผม ไม่ตรวจเวร จะทำเวรก็ทำ ไม่ทำก็แล้วไป ถ้าเป็นแฟนก็คงใช้คำว่า “ห่างกันสักพักครับ”

 

ผมไม่รู้ว่าเด็ก ๆ คิดหรือรู้สึกยังไง แต่คนเป็นครูอย่างผมมันเจ็บลึก ๆ ครับ

 

ทำเป็นไม่ทัก ไม่สนใจ แต่ก็แอบเข้าไปดูเฟซบุ๊กของเด็กแต่ละคน ว่าคิดยังไง รู้สึกยังไง จนเริ่มเห็นอะไรหลาย ๆ อย่างจากรูปภาพหรือสเตตัสนักเรียน เช่น การตัดพ้อพ่อแม่ การมีเรื่องทะเลาะกับวัยรุ่นนอกโรงเรียน ปัญหาความรัก ทะเลาะกับแฟน เลิกกับแฟน บางคนต้องทำงานช่วยที่บ้าน บางคนมีความฝัน  แต่เขารู้สึกว่าการมาโรงเรียนไม่ได้ช่วยให้เขาเข้าไปใกล้ความฝันได้เลย

ผมกลับเข้าไปทำหน้าที่ครูประจำชั้นอีกครั้ง ไปคุยกับพวกเขามากขึ้น แล้วเริ่มรับฟัง ไม่ใช่การฟังจากการพูดคุย แต่เป็นการฟังจากการรับรู้ถึงความคิดและความรู้สึกของพวกเขา  มีเด็กหลายคนที่ยังต้องการครู ยังต้องการคำปรึกษา พวกเขารักครูและโรงเรียนแต่ไม่รู้จะแสดงออกแบบไหน

 

สุดท้ายแล้ว ผมค้นพบว่า วิธีที่จะเอาชนะใจพวกเขาได้ คือเราต้องให้ใจกับพวกเขาก่อน เข้าใจเขา รับรู้ปัญหา ฟังเขา และหาข้อตกลงร่วมกัน

 

เด็ก ๆ ไม่ได้พร้อมเหมือนกันหมด เด็ก ๆ ไม่ได้มีครอบครัวที่อบอุ่นเหมือนกันทุกคน พวกเขามีปัญหา และพยายามหาทางออก ที่เราเห็นเขามาสาย ขาดส่งงาน ไม่ยอมเข้าเรียน คือยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมาให้เรามองเห็นเท่านั้น

 

กว่าเราจะเข้าใจกัน ก็เกือบจะเป็นวันสุดท้ายที่เด็ก ๆ จะจบออกไป แต่ก็ดีใจที่ยังไม่สายเกินไป ดีใจที่พวกเขาแก้ 0 ร มผ. ได้ทันเวลา และเรียนจบ ม.6 กันทุกคน จากที่ดูแล้วไม่น่าจะจบได้ทัน ซึ่งก็ต้องให้เครดิตกับระบบการตามงานของครูละมุดที่ช่วยวางแผนการแก้งานของเด็ก ๆ

 

ในวันปัจฉิม หลายคนก้มกราบผมหลังจากผูกข้อมือเสร็จ ไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าความรู้สึกมันพิเศษแค่ไหน เพราะนี่ไม่ใช่พิธีการอะไร ไม่มีใครบังคับใคร แต่เป็นสิ่งที่เราแลกกันได้ด้วยใจเท่านั้น

 

ในสมัยก่อนนั้น การเรียนคือการทำอาหารอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง แล้วเราก็เรียกนักเรียนมากินอาหารที่เราทำ บอกว่าอาหารนี้มีประโยชน์ ใครกินมากก็โตเร็ว
แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้น มีอาหารน่าตาน่ากินมากมายที่มาดึงความสนใจจากนักเรียนเราไป ผมเคยคิดว่าหน้าที่ครูคือการเตรียมอาหารให้น่ากิน น่าสนใจกว่าอาหารจากที่อื่นให้ได้
แต่แท้จริงแล้ว ความหมายของอาหารไม่ใช่ความน่ากิน แต่เป็นอาหารที่เราต่างช่วยกันทำมันขึ้นมาจากความรักและความรู้สึกของครูและนักเรียนมากกว่า

 

 

ทุกท่านครับ

ตอนนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่า การที่เราจะรอให้ใครสักคนมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยนั้น คงอาจจะเกิดขึ้นไม่ทันก่อนวิดีโอพรีเซ็นเตชั่นงานวันเกษียณของเราเป็นแน่ ดังนั้นเราต้องเริ่มเปลี่ยนที่ตัวเราเองก่อนครับ

 

สิ่งสำคัญคือ ครูต้องตามโลกให้ทันว่าไปถึงไหนแล้ว

แล้วมองเด็กน้อยที่ยืนอยู่ข้าง ๆ เรา ถามเขา คุยกับเขา ว่าพร้อมที่จะออกไปสู่โลกกว้างได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว

อะไรที่เขาขาด อะไรที่เราปรับให้เขาได้ ทำเถอะครับ

ครูคือที่พึ่งสุดท้ายของเขาในระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้แล้วจริง ๆ ครับ

 

ไม่ใช่อะไรอะไรก็ครูแล้วครับ

ยังไงยังไงก็ครูครับ
ชมคลิปการพูดได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=CL6rlpBlgso

  • กด like แฟนเพจ