ไฮไลต์สำคัญสำหรับการมากรุงเทพแต่ละครั้งของผม คือการนั่งแท็กซี่
วันนี้จากแถวซีคอนสแคว์มาดอนเมือง ได้ประเทืองปัญญากับลุงวิชัย คนขับรถอายุ 69 ปี
ผมเริ่มต้นด้วยการถามคำถามง่าย ๆ (บางคนเรียกคำถามโง่ๆ) ว่า “สงกรานต์ไปไหน” ทำให้รู้ว่าลุงวิชัยเป็นคนกรุงเทพฯ ลุงจึงถามกลับว่าผมเป็นคนที่ไหน เมื่อได้คำตอบว่าผมเป็นคนเชียงราย ลุงวิชัยจึงพูดถึงข่าวที่อ.เฉลิมชัยแสดงความยินดีที่ลูกชายสมัครทหาร แล้ววิจารณ์กันเล็กน้อย
เราทั้งคู่เรียน รด.
ลุงวิชัยไม่ได้ไปเขาชนไก่ เพราะสมัยก่อนทหารจะมาฝึกให้ที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัย คือที่เตรียมอุดมฯ และธรรมศาสตร์
ครับ ลุงวิชัย เป็นเด็กเตรียม และสอบติดอันดับ 2 ที่เลือกไว้คือนิติ ธรรมศาสตร์
แต่ลุงวิชัยไม่ได้จบธรรมศาสตร์
ลุงออกมาหางานทำตอนปี 1 เนื่องจากความจำเป็นทางบ้าน มาทำงานเป็นผู้จัดการโรงงานกระป๋องนกพิราบ จนสุดท้ายมาทำธุรกิจค้าของเก่าที่เป็นงาน Antique ก่อนจะเห็นว่างาน Antique นั้นลงทุนสูงขายยาก จึงเปลี่ยนมาเริ่มธุกิจ Crafting ซึ่งขายได้ง่ายกว่า
“ลุงเป็นเจ้าแรกที่เริ่มทำ”
ลุงวิชัยเดินสายซื้อของเก่าทั่วประเทศ รับจากที่หนึ่งไปส่งอีกที่หนึ่งไปขายยังที่หนึ่ง จากรถบรรทุก 1 คัน ก็เปลี่ยนเป็น 4 คัน ส่งของให้ตามร้านขายของเก่า และหมุนเวียนของไปมา (เป็นเหตุผลหนึ่งที่ลุงบอกว่า เราอาจตะเจอของชิ้นเดียวกัน แต่ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง)
ผมถามลุงวิชัยว่า สินค้าที่ลุงขายแล้วได้ราคาแพงสุดคืออะไร ลุงบอกว่าเป็นของชิ้นใหญ่ๆ อย่างตู้เก่า เตียงเก่า ส่งนใหญ่เป็น Antique ราคาก็ประมาณ 3-4 แสน แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็น crafting ก็อยู่ราว ๆ หลักหมื่น
ลุงวิชัยดูมีความสุขที่ได้เล่าเรื่องราวของแก ผมจึงทำหน้าที่เหมือนเป็นพิธีกรสัมภาษณ์ต่อว่า ของราคาที่ซื้อมาถูกสุด แล้วขายได้ราคาสูงสุดคืออะไร
ลุงบอกว่าซื้อที่บดยาราคา 10 บาท ขายไปราคา 3 หมื่น
“พวกนั้นมันตาไม่ถึง” ลุงบอก
ความไกลของเส้นทาง ทำให้เราคุยกันถึงแหล่งที่มาสินค้า รถเก่าที่ลุงสะสม และเหตุผลที่ลุงมาขับแท็กซี่
“ลุงเลิกทำตอนสึนามิเข้าภูเก็ต เก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ต้องปล่อยไปราวๆ 4 ล้าน”
จากนั้นลุงวิชัยก็ไปเป็นผู้จัดการโรงแรมที่เชียงใหม่ ก่อนจะปลดตัวเองมาอยู่บ้าน
“เราเคยทำงาน อยู่บ้านก็เบื่อ ลุงเลยมาขับแท็กซี่”
ผมจ่ายค่าวิชาไป 327 บาท (ไม่รวมค่าทางด่วน) และกล่าวขอบคุณ ที่ประตูทางเข้าหมายเลข 4