ซ้ายน่ารัก ขวาทุเรศ

ที่เชียงรายเริ่มเข้าหน้าหนาวแล้วครับ
อากาศหนาว ๆ ดูจะเป็นมิตรกับบรรยากาศในห้องเรียนมากกว่าอากาศร้อน

ผมนึกถึงเกมขึ้นมาอยู่หนึ่งเกม ที่เฮดนันทนาการค่ายฝ่ายพัฒน์ฯ ชอบให้พวกเราเล่นกันเพื่อละลายพฤติกรรมเวลาไปค่าย เป็นเกมง่าย ๆ กติกาไม่ซับซ้อน น่าจะเหมาะกับการนำเข้าสู่ชั้นเรียนได้ครับ

ผมให้นักเรียนนั่งเป็นวงกลมเพื่อความสะดวกครับ กติกามีอยู่ว่า ให้ส่งคำพูดต่อ ๆ กัน โดยเลือกบอกคนข้าง ๆ ได้สองคำ คือคนทางซ้ายให้บอกได้คำเดียวคือ “น่ารัก” คนทางขวาให้บอกได้แค่ว่า “ทุเรศ” เมื่อใครก็ตามที่มีเพื่อนคนข้าง ๆ ส่งคำนี้ใดก็ตามมาให้ ก็ต้องเลือกได้ว่าจะส่งต่อหรือส่งกลับครับ

เน้นตัวใหญ่ ๆ ว่า “ต้องใส่ความรู้สึกทางสีหน้าและน้ำเสียงที่ตรงกับคำนั้นให้เพื่อนด้วยนะครับ”

ผมปล่อยนักเรียนเล่นไปสักพัก ภาพที่เราเห็นคือนักเรียนจะเขินมากเมื่อต้องบอกคำว่าน่ารัก (ซึ่งบางทีก็ดูเหมือนคนที่ได้รับจะเขินกว่าด้วยนะครับ) และอาการสะดุ้งเมื่อเพื่อนบอกว่า “ทุเรศ”

ถ้าหากเล่นรอบเดียวแล้วไม่หนำใจ ลองกลับด้านเป็น ซ้ายทุเรศ ขวาน่ารักอีกทีก็ได้ครับ จะเห็นการเอาคืนเกิดขึ้น

ความสมบูรณ์ของเกมประเภทนี้อยู่ที่การช่วยกันสรุปครับ ทั้งจากครูเองที่เป็นคนคอยสังเกต หรือจากนักเรียนที่เป็นผู้ผ่านประการณ์เกมนี้มาครับ

ซึ่งสิ่งที่ได้จากเกม มักไม่ซ้ำกันครับ

……….

ผมถามนักเรียนก่อนว่า เวลาเล่นเกมนี้รู้สึกยังไง นักเรียนส่วนใหญ่บอกว่าเขินครับ เวลาที่เพื่อนส่งสายตาซึ้ง ๆ มาให้แล้วพูดว่า “น่าร็อกอ่ะ” โดยเฉพาะรอยต่อที่เป็นเพศตรงข้ามกัน และบางทีก็แอบเห็นอาการเซ็งเล็กน้อยเวลาเพื่อนพูดว่า “ทู่เรดดดด” ใส่หน้าครับ

ผมย้ำอีกครั้งว่า “นี่เราเล่นเกมกันไม่ใช่เหรอ ทุกคนพูดตามกติกานะ อย่างคนที่บอกว่าน่ารัก เค้าไม่ได้คิดอะไรกับเธอ เค้าบอกตามหน้าที่ เธอไปเขินเค้าทำไม”

นักเรียนคนหนึ่งยิ้มแล้วพูดว่า “ก็เขินอยู่ดีแหละค่ะ”

“เข้าเรื่องเลยนะ.. เราได้ข้อคิดอะไรจากเกมนี้ครับ” ผมถาม

“เรื่องการพูดค่ะ ให้ระมัดระวังคำพูด เวลาจะพูดกับใคร ” นักเรียนคนบอกคำตอบที่แม้ผมเองก็ยังคิดไม่ได้

“การพูดคำบางคำ แม้เราจะไม่ได้คิดอะไรออกไป หรือเราคิดว่าเพื่อนก็รู้ว่าเราพูดเล่น แต่เพื่อนบางคนก็อาจจะเสียใจกับคำพูดของเรา ดังนั้นเราพูด หรือทักทายกันในเชิงบวกดีกว่าค่ะ”

คำตอบของนักเรียนหญิงทำให้ผมภูมิใจ

……….

เกมนี้ยังสะท้อนให้เห็นการกระทำของคนในสังคมที่ทำต่อ ๆ กันโดยที่ไม่คิดอะไรครับ เพื่อนส่งคำไหนมาเราก็ส่งคำนั้นต่อนั่นแหละ กลายเป็น “น่ารัก น่ารัก น่ารัก น่ารัก น่ารัก…” หรือ “ทุเรศ ทุเรศ ทุเรศ ทุเรศ ทุเรศ…” ติด ๆ กัน จนกว่าจะมีใครสวนกลับเพื่อนด้วยคำตรงกันข้าม ถึงจะได้วนกลับมาอีกครั้ง

ตรงนี้ก็สรุปได้ว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงบางครั้งก็เริ่มจากตัวเราได้ครับ แล้วมันก็จะส่งผลต่อคนข้าง ๆ เราได้ด้วยเช่นกัน

……….

ช็อตดราม่าของเกมนี้ที่เรามักจะเจอและเห็นนักเรียนหัวเราะชอบใจ คือการ battle กันไปมา ระหว่างคนที่พูดว่า “น่ารัก” กับคนที่พูดว่า “ทุเรศ”

ลองให้นักเรียนเล่นดูนะครับ
แล้วดูกันว่าเมื่อมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ใครจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

บทสรุปของความพ่ายแพ้นั้น คุณครูกับนักเรียนที่เล่นเกมนี้ด้วยกัน ต้องช่วยกันสรุปออกมาเองครั

by #ครูมะนาว
คนที่พร้อมจะน่ารักและทุเรศไปข้าง ๆ เธอ (เอ๊ะยังไง 5555555)

  • กด like แฟนเพจ